ศิลปะในการดําเนินชีวิต: วิปัสสนากรรมฐาน

เนื้อหาโดยย่อที่ได้เรียบเรียงไว้นี้ มาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ณ เมืองเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

คนเราทุกคนล้วนต้องการความสุข ความสงบ ความเป็นมิตร แต่เพราะสภาพชีวิตปัจจุบันขาดสิ่งเหล่านี้ ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความขุ่นมัว มีแต่ความฟุ้งซ่าน รําคาญใจ ความขัดแย้ง และความทุกข์ และเมื่อเรามีแต่ความขุ่นมัว เราจะไม่เก็บสิ่งเหล่านี้ไว้คนเดียว แต่จะแจกจ่ายความทุกข์เหล่านี้ให้ผู้อื่นที่อยู่รอบข้างด้วย บรรยากาศรอบตัวของคนที่มีความทุกข์จะเต็มไปด้วยความขัดเคือง และทุกคนที่สัมผัสกับเขาจะต้องเกิดความขุ่นมัวตามไปด้วย ความเป็นอยู่เช่นนี้ไม่ใช่การใช้ชีวิตที่ถูกต้องอย่างแน่นอน

️เราควรจะอยู่อย่างมีสันติกับตัวเราเองและกับผู้อื่น ทั้งนี้เพราะคนเป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ต้องเกี่ยวข้องกัน แล้วเราจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะมีสันติ ความสอดคล้องภายในตัวเรา ตลอดจนรักษาความสงบและกลมกลืนรอบๆ ตัวเรา เพื่อที่ผู้อื่นจะได้อยู่อย่างสงบและสอดคล้องเช่นเดียวกัน

️เมื่อเราเกิดความขุ่นมัว เราจะทําให้มันหายไปได้อย่างไร ถ้าเราศึกษาปัญหาก็จะพบว่า เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้นในใจ เราจะรู้สึกขัดเคือง กิเลสกับความสงบและความสอดคล้องไม่อาจจะอยู่ด้วยกันได้

แล้วกิเลสเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราศึกษาปัญหาลึกลงไปจะพบว่า เราเป็นทุกข์ เมื่อใครคนหนึ่งกระทําสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือเมื่อเราประสบกับสถานการณ์ที่ไม่ชอบ สิ่งที่เราไม่ชอบเกิดขึ้น ทําให้เราสร้างความตึงเครียดในตัวเรา สิ่งที่เราต้องการไม่เกิดขึ้น อุปสรรคเข้ามาขวางกั้น เราก็สร้างความตึงเครียดในตัวเรา เราเริ่มผูกปมในตัวเรา และตลอดชีวิตของเราสิ่งที่ไม่ต้องการมักเกิดขึ้นเสมอ สิ่งที่ต้องการอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น และเราก็จะเฝ้าแต่ตอบโต้ สร้างความตึงเครียด ทําให้จิตใจและร่างกายของเราเต็มไปด้วยความตึงเครียด ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์

แนวทางในการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ เราจะต้องทําให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตามต้องการ เราต้องเสริมสร้างอํานาจหรือขอให้ผู้ที่มีอํานาจช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ต้องการ บันดาลให้เฉพาะแต่สิ่งที่ต้องการ ซึ่งนั่นไม่มีทางเป็นไปได้เลย ไม่มีใครในโลกที่จะสมหวังตามความต้องการทุกอย่าง สิ่งที่ไม่ปรารถนาย่อมเกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ทําอย่างไรจึงจะไม่ตอบโต้ ไม่สร้างความเครียด เมื่อสิ่งที่ไม่ปรารถนาเกิดขึ้น ทําอย่างไรจึงจะมีความสงบและความสมานฉันท์

️นักปราชญ์ในอดีตได้ศึกษาปัญหานี้ ปัญหาในการดับทุกข์ของมนุษย์ ทางออกอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีสิ่งที่ไม่ต้องการเกิดขึ้น และเราเริ่มตอบโต้ด้วยความโกรธ ความกลัว หรือด้วยกิเลสอื่นๆ ก็ให้เราหันเหความสนใจไปที่อื่น เช่น ลุกขึ้นไปหาน้ำดื่ม ความโกรธก็จะไม่เพิ่มพูน เราจะค่อยๆหายโกรธ หรือ 

ให้นับหนึ่งถึงสิบ หรือให้ท่องคาถา สวดมนต์ หรือท่องชื่อของเทพเจ้า และนักบุญที่เราศรัทธา จิตจะหันเหจากสิ่งที่โกรธ ทําให้เราหายโกรธได้ในระดับหนึ่ง 

️วิธีนี้ช่วยได้ เคยใช้ได้ดี และยังใช้ได้ดีอยู่ ถ้าฝึกทําเช่นนี้ จะรู้สึกว่าจิตใจหายจากความขุ่นมัว แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ได้ผลเพียงแค่ในระดับจิตสํานึกเท่านั้น แท้จริงแล้ว ในขณะที่เราหันเหความสนใจ เราได้เก็บความโกรธหรือกิเลสนั้นไว้ที่ส่วนลึกของจิต คือจิตไร้สํานึก และจิตไร้สํานึกนี้จะยังคงเพิ่มพูน 

กิเลสขึ้นเรื่อยๆ ที่ระดับพื้นผิวของจิตดูเหมือนจะถูกฉาบด้วยความสงบและความสอดคล้อง ทว่าในส่วนลึกลงไปนั้นมีภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่ซ่อนอยู่ ซึ่งไม่ช้าก็เร็วจะต้องระเบิดออกมา 

นักปราชญ์อื่นที่สํารวจเข้าไปภายในส่วนลึกของจิต ได้พบกับความเป็นจริงสูงสุดเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจของตนเอง จนกระทั่งได้รู้ว่า การหันเหความสนใจเป็นเพียงการวิ่งหนีปัญหา เราไม่อาจแก้ปัญหาด้วยการวิ่งหนี แต่ต้องเผชิญหน้ากับมัน เมื่อกิเลสเกิดขึ้นในใจ ก็เพียงแต่เฝ้าดูมัน เผชิญหน้ากับมัน ทันทีที่เราสังเกตดูกิเลสในใจ กิเลสนั้นจะค่อยๆ อ่อนกําลังลง และสลายไปเอง

️วิธีนี้นับเป็นวิธีที่ดี เป็นทางสายกลาง คือไม่เก็บกดกิเลสอันจะเป็นอันตรายต่อตนเอง หรือปล่อยให้มันระบายออกมาเป็นคําพูด หรือการกระทําที่ทําร้ายผู้อื่น เราเพียงแต่เฝ้าสังเกตดู แล้วมันก็จะค่อยๆ อ่อนกําลังลง และถูกขจัดไปในที่สุด จนเราเป็นอิสระจากกิเลสนั้น

️วิธีนี้ฟังดูดีมาก แต่จะปฏิบัติได้หรือไม่ ปัญหาอยู่ที่ว่า คนทั่วไปจะสามารถเผชิญหน้ากับกิเลสได้อย่างเท่าทันหรือไม่ เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันจะครอบงําเราอย่างรวดเร็วจนไม่ทันสังเกต แล้วเราก็จะทําหรือพูดในสิ่งที่ทํา ร้ายทั้งตนเองและผู้อื่น ครั้นพอหายโกรธ เรากลับเสียใจ สํานึกผิด และร้องขออภัยต่อคนๆ นั้น หรือต่อพระเจ้า แต่คราวต่อไป เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันอีก เราก็ตอบโต้ในลักษณะเดิมอีก ความสํานึกผิดไม่สามารถจะช่วยอะไรเราได้เลย

ปัญหาอยู่ที่ว่า เราไม่รู้ว่ากิเลสเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด กิเลสเกิดขึ้นที่ส่วนลึกของจิตไร้สํานึก และกว่าจะออกมาถึงระดับจิตสํานึก มันก็มีพลังแรงกล้าเข้าครอบงําเราโดยไม่รู้ตัว 

ถ้าเช่นนั้น เราต้องหาเลขานุการส่วนตัวไว้คอยเตือนตัวเองเมื่อเกิดความโกรธ และเนื่องจากความโกรธอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เราจึงต้องมีเลขานุการคอยทํางานตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 กะ กะละ 8 ชั่วโมง สมมติว่าเราสามารถจ้างเลขานุการไว้ช่วยเตือนได้ แต่เมื่อเราเกิดความโกรธ แล้ว เลขานุการรีบเตือนว่า “ระวังครับท่าน ความโกรธเกิดขึ้นแล้ว” ทว่าสิ่งแรกที่เรากลับทําก็คือ ตบหน้าเลขานุการ แล้วว่า “เจ้าโง่ ฉันไม่ได้จ้างแกมาสอนฉัน” ทั้งนี้เพราะความโกรธครอบงําเราอย่างหนัก คําแนะนำใดๆ ก็ไม่อาจช่วยเราได้ในเวลานั้น

️และถึงแม้ว่าเราจะไม่ทําอะไรรุนแรงด้วยการตบหน้าเลขานุการ แต่กล่าวว่า “ขอบใจมากที่เตือน ฉันจะต้องนั่งลง และคอยเฝ้าดูความโกรธ” ทว่าเราจะสังเกตความโกรธอย่างไร ทันทีที่หลับตาและสังเกตความโกรธ สิ่งที่ทําให้เราโกรธจะปรากฏขึ้นในใจ เราไม่ได้กําลังเฝ้าดูความโกรธ หากแต่กำลังสังเกตสิ่งกระตุ้นภายนอกเท่านั้น การทําเช่นนี้มีแต่จะเพิ่มพูนความโกรธ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เป็นการยากที่จะสังเกตความโกรธ ซึ่งเป็นนามธรรมแยกจากสิ่งภายนอกที่ทําให้เราโกรธ 

️แต่ผู้ที่เข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดได้พบทางออกที่เห็นผลจริงๆ ท่านผู้นั้นพบว่าเมื่อเกิดกิเลสขึ้นในจิต จะมีปรากฏการณ์ทางกายเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน 2 อย่าง อย่างแรกคือ ลมหายใจจะผิดปกติ เราจะหายใจแรง เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้นในใจ ลมหายใจเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่าย ส่วนอย่างที่สองนั้นเกิดขึ้นในระดับที่ละเอียดกว่าคือ จะมีปฏิกิริยาทางชีวเคมีบางอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งปรากฏออกมาเป็นความรู้สึก กิเลสทุกอย่างจะทําให้เกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

️วิธีนี้สามารถปฏิบัติได้จริง คนทั่วไปไม่อาจจะสังเกตกิเลสซึ่งเป็นนามธรรม เช่น ความโกรธ ความกลัว ความใคร่ แต่สามารถสังเกตลมหายใจ หรือความรู้สึก หากได้ฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้อง 

ลมหายใจและความรู้สึกทางกายจะช่วยเราได้ 2 ทาง คือคอยเตือนเราเหมือนเป็นเลขานุการส่วนตัว ทันทีที่กิเลสเกิดขึ้นในจิต ลมหายใจของเราจะผิดปกติ ราวกับจะร้องบอกว่า “ระวัง ! มีบางสิ่งผิดปกติ” เราไม่อาจทุบตีเลขานุการประเภทนี้ หากต้องยอมรับคําเตือน เช่นเดียวกับความรู้สึกทางกายของเราที่จะบอกว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อเราได้รับการเตือน แล้วหันมาสังเกตลมหายใจหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เราจะพบว่ากิเลสนั้นค่อยๆ สลายตัวไป

ปรากฏการณ์ทางจิตและกายนี้เปรียบเสมือนด้านทั้งสองของเหรียญอันเดียวกัน ด้านหนึ่งคือความคิดหรืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิต ส่วนอีกด้านคือลมหายใจ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดความคิดหรืออารมณ์ขึ้นในจิตใจ ย่อมแสดงออกทางลมหายใจและความรู้สึกทางกายในขณะนั้นด้วย ดังนั้น การสังเกตลมหายใจหรือความรู้สึกทางกาย ก็คือการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต แทนที่จะเป็น การหนีปัญหา กลับเป็นการเผชิญหน้ากับความจริงที่กําลังเกิดขึ้น ถ้าเราสังเกตความจริงนี้ ก็จะพบว่ากิเลสนั้นอ่อนกําลังลงจนไม่สามารถครอบงําเราได้เหมือนก่อน และถ้าเราสังเกตต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะสลายตัวไปในที่สุด ทําให้เรายังคงรักษาความสงบเอาไว้ได้

การสังเกตตนเองทําให้เราเห็นความจริงทั้งสองแง่มุม คือ ความจริงภายนอก และความจริงภายใน เรามองออกไปข้างนอกเพื่อหาสาเหตุที่ทําให้ตัวเองเป็นทุกข์ เราเอาแต่โทษสิ่งภายนอก และพยายามแก้ไขสิ่งภายนอก โดยไม่รู้ถึงความจริงภายใน เราไม่เข้าใจว่า ความทุกข์ของตัวเองเกิดจากสาเหตุภายใน คือการปรุงแต่งตอบโต้ต่อความรู้สึกน่าพอใจและไม่น่าพอใจเพียงเท่านั้น

ถ้าเราฝึกอย่างถูกต้อง นับแต่นี้ไปก็จะสามารถแลเห็นอีกด้านหนึ่งของความจริง คือความจริงภายในตัวเรา สามารถรับรู้ถึงลมหายใจและความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าสังเกตลมหายใจหรือความรู้สึกทางกาย เราก็เรียนรู้ที่จะเฝ้าดูด้วยจิตที่ไม่หวั่นไหว ไม่ทําอะไรที่เป็นการตอบโต้ ซึ่งจะเป็นการไปเพิ่มพูนความทุกข์ หากแต่จะปล่อยให้กิเลสที่แสดงตัวออกมาค่อยๆ หมดกําลังลงและดับไป

ยิ่งถ้าเราได้ฝึกปฏิบัติจนชํานาญมากขึ้น ก็จะพบว่ากิเลสถูกขจัดออกไปเร็วขึ้น จิตจะค่อยๆ หลุดพ้นจากกิเลส เป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้น จิตที่บริสุทธิ์นี้จะเต็มไปด้วยความรักความเมตตาต่อทุกคน เต็มไปด้วยความกรุณาต่อผู้ทุกข์ยาก เต็มไปด้วยความยินดีต่อความสําเร็จและความสุขของผู้อื่น และเต็มไปด้วยอุเบกขาในทุกๆ สถานการณ์

ผู้ที่บรรลุถึงขั้นนี้ จะมีรูปแบบของการดําเนินชีวิตเปลี่ยนไป ไม่อาจจะกระทําสิ่งใดๆ ทางกายหรือวาจาที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น จิตที่สมดุลไม่เพียงแต่จะทำให้ตัวเองสงบสุข แต่ยังจะช่วยให้ผู้อื่นสงบสุขด้วย บรรยากาศรอบๆ ตัวเขาจะเต็มไปด้วยความสงบและความกลมเกลียว ซึ่งจะทําให้ผู้ที่อยู่รอบข้างพลอยสงบสุขไปด้วย

การที่เราฝึกวางใจเป็นกลาง เมื่อเผชิญกับความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราพัฒนาความไม่ยึดมั่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ภายนอกด้วย แต่การไม่ยึดมั่นไม่ได้หมายความว่า เราไม่ใยดีต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบข้าง นักปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องห่วงใยในความทุกข์ยากของผู้อื่น และพยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่ทําได้ โดยไม่มีความรู้สึกขุ่นมัว ทว่าด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยความรักความเมตตาและอุเบกขา เขาย่อมเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่ โดยที่ยังคงรักษาความสมดุลของจิตเอาไว้ตลอดเวลา นั่นคือเขาจะรักษาความสงบสุขในตัวเอง ขณะที่พยายามช่วยให้ผู้อื่นเกิดความสงบสุข

️นี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน เป็นศิลปะของการดําเนินชีวิต พระองค์ไม่ได้สอนหรือตั้งลัทธิขึ้นใหม่ ทรงไม่เคยบอกให้สาวกของพระองค์ทําพิธีกรรมใดๆ หรือทําตามรูปแบบใดๆ อย่างงมงาย พระองค์ทรงสอนวิธีสังเกตธรรมชาติภายในตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ เราเฝ้าแต่ตอบสนองความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ในทางที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อเรามีปัญญาซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดจากการสังเกตความจริงตามที่เป็น เราจะเลิกนิสัยตอบโต้นี้ เมื่อเราเลิกตอบโต้อย่างมืดบอด ก็จะสามารถกระทําสิ่งต่างๆ ด้วยจิตที่สมดุล รู้และเข้าใจความจริง การกระทําเช่นนี้จะมีแต่ผลดี มีแต่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 

️สิ่งที่สําคัญคือ เราต้อง “รู้จักตัวเอง” ดังที่นักปราชญ์ทั้งหลายแนะนํา เราต้องรู้จักตัวเอง ไม่ใช่เพียงผิวเผินในระดับเชาวน์ปัญญาหรือระดับทฤษฎี ไม่ใช่เพียงระดับศรัทธาหรือระดับอารมณ์ คือยอมรับอย่างงมงายตามที่ได้ยินหรือได้อ่านมา ความรู้ในระดับนี้ไม่อาจช่วยเราได้จริง เราต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองในระดับประสบการณ์ คือเราจะต้องพบกับความจริงนั้น ความจริงที่เกี่ยวกับร่างกายและจิตใจของเราด้วยตัวเราเองเท่านั้น จึงจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากกิเลสความทุกข์ 

️วิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความจริงภายในตัวเองในระดับประสบการณ์นี้เรียกว่า วิปัสสนา ปัสสนา แปลว่า การเห็นด้วยตา วิปัสสนา แปลว่า การเห็นสิ่งต่างๆ ตามอย่างที่มันเป็นอยู่ ไม่ใช่ตามที่ดูเหมือนจะเป็น เราต้องเจาะลึกลงไปในความจริงที่ผิวเผิน จนถึงความจริงอันสูงสุดของร่างกายและจิตใจ เมื่อเราเข้าถึงความจริงนี้แล้ว เราก็ย่อมเรียนรู้ที่จะหยุดการตอบโต้อย่างมืดบอด หยุดสร้างกิเลส และธรรมชาติก็จะทําหน้าที่ของมันเอง คือขจัดกิเลสเก่าๆ ออกไปอย่างถอนรากถอนโคน ทําให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ และประสบแต่ความสุข 

การปฏิบัติวิปัสสนามีอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกคือ การรักษาศีล เราจะต้องงดเว้นจากการกระทําทางกายหรือวาจาที่ทําลายความสงบสุขของผู้อื่น เราจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้ ถ้ายังมีกายกรรมหรือวจีกรรมที่เป็นการเพิ่มพูนกิเลส ดังนั้น เราจึงต้องรักษาศีลเป็นเบื้องแรก ได้แก่ ศีล 5 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ และไม่ใช้สารมึนเมา การงดเว้นจากการกระทําดังกล่าวจะช่วยให้จิตสงบลง จนพร้อมที่จะเข้าถึงความเป็นจริงในตัวเอง

ขั้นตอนต่อมา คือการพัฒนาความสามารถในการควบคุมจิตที่ควบคุมได้ยาก ด้วยการฝึกให้จิตเพ่งความสนใจไปที่วัตถุอย่างเดียวคือลมหายใจ เราจะพยายามจะเพ่งความสนใจไปที่ลมหายใจให้นานที่สุด นี่ไม่ใช่การฝึกหายใจ ไม่ใช่การควบคุมลมหายใจ แต่เป็นการสังเกตลมหายใจตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ ทั้งในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก การกระทําเช่นนี้จะทําให้จิตสงบยิ่งขึ้น จิตจะปราศจากกิเลสที่รุนแรง ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำให้จิตมีสมาธิแหลมคม พร้อมที่จะสํารวจความจริงในตัวเอง

ขั้นตอนทั้ง 2 นี้ เป็นขั้นตอนที่จําเป็นและมีประโยชน์โดยตัวมันเอง แต่จะนําไปสู่การเก็บกด นอกเสียจากว่าเราจะปฏิบัติขั้นตอนที่สามคือ การชําระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส โดยพัฒนาปัญญาให้เห็นธรรมชาติของตนเอง นี่คือการปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งเป็นการมองความจริงภายในร่างกายและจิตใจ จะมีการสังเกตอย่างเป็นระบบ ทําอย่างปล่อยวาง สังเกตเข้าไปในปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของกระบวนการนามรูป ซึ่งแสดงตัวออกมาเป็นความรู้สึกที่ร่างกาย นี่เป็นสาระสําคัญในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือการชําระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการสังเกตตนเอง

️วิธีนี้สามารถปฏิบัติได้ทุกคน เราทุกคนล้วนมีความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ความทุกข์เป็นโรคสากลที่เกิดในมนุษย์โดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือลัทธิ ดังนั้น วิธีการแก้ทุกข์จึงต้องเป็นสากลด้วยเช่นกัน เมื่อเราเป็นทุกข์จากความโกรธ เราไม่เรียกความโกรธนั้นว่า ความโกรธแบบพุทธ แบบฮินดู หรือแบบคริสต์ ความโกรธก็คือความโกรธ เมื่อเราเกิดความขุ่นเคืองเนื่องจากความโกรธ ความขุ่นเคืองนั้นก็ไม่ใช่ความขุ่นเคืองของชาวคริสต์ ชาวฮินดู หรือชาวพุทธ ทุกข์เป็นของสากล ทางแก้ทุกข์จึงต้องเป็นวิธีสากลด้วย

️วิธีปัสสนาเป็นวิธีสากล ไม่มีใครที่จะคัดค้านได้ว่า ศีล สมาธิอันเป็นการพัฒนา ความสามารถในการควบคุมจิต และการพัฒนาปัญญาให้แลเห็นความจริงภายในตนเอง อันจะช่วยให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง ดังนั้น วิปัสสนาจึงเป็นเส้นทางที่เป็นสากล

การสังเกตความเป็นจริงภายในตนเองคือ การรู้จักตนเอง ในระดับที่เป็นจริงจากประสบการณ์ของตนเอง เมื่อฝึกปฏิบัติไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆ หลุดพ้นจากกิเลส เริ่มจากความจริงหยาบๆ ภายนอก ความจริงอย่างผิวเผิน จนเจาะลึกเข้าไปถึงความจริงอันสูงสุดของนามและรูป แล้วข้ามพ้นความจริงของนามรูป เข้าถึงความจริงที่อยู่เหนือนามรูป อยู่เหนือมิติของกาลเวลาและสถานที่ อยู่เหนือขอบเขตของความสัมพัทธ์ เป็นความจริงที่ปราศจากกิเลส ปราศจากความทุกข์ ไม่สําคัญว่าเราจะเรียกภาวะนี้อย่างไร แต่นั่นเป็นเป้าหมายของทุกคน

ขอให้ท่านทั้งหลายได้ประสบกับความจริงอันสูงสุดนี้ ขอให้ทุกๆท่านจงหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ได้พบกับความสงบ ความสมานฉันท์ และความสุขที่แท้จริง

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน